พระราชวังชางด๊อกกุง หรือ พระราชวังชางด๊อก หนึ่งในห้าพระราชวังที่สำคัญที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลี สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแทจงแห่งราชวงศ์โชซอน เมื่อปี พ.ศ. 1948 (ค.ศ. 1405) แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1955 (ค.ศ. 1412) ด้วยเหตุที่พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวังเคียงบก (Kyeongbok Palace) ผู้คนจึงเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่าพระราชวังตะวันออก (East Palace) ซึ่งต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าซอนโจ กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งโชซอนได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหญ้าของพระราชวังเป็น 500,000 ตารางเมตร
ในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) ขุนศึกญี่ปุ่น โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิได้เข้ารุกรานเกาหลี กินเวลายาวนานถึง 7 ปี พร้อมกับเผาทำลายพระราชวัง ซึ่งในปีนี้เองเป็นปีที่ฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งการสถาปนาราชวงศ์ โดยหลังจากผ่านสงคราม 7 ปีไปแล้ว พระราชวังก็ได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1619) โดยพระเจ้าซอนโจ และองค์ชายควางแฮกุน แต่อีก 4 ปีต่อมา พระราชวังกลับเกิดเพลิงเผาวอดอีกครั้งในเหตุจราจลที่ขุนนางไม่พอใจองค์ชายควางแฮและก่อการยึดอำนาจ สถาปนาองค์ชายนึงยางขึ้นเป็นพระเจ้าอินโจ พร้อมกับเนรเทศองค์ชายควางแฮไปเกาะคังฮวา จนพระราชวังถูกโจมตีอีกครั้งจากจักรวรรดิชิง (ประเทศจีน) แต่หลังจากนั้นพระราชวังก็ได้รับการสร้างใหม่ให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม
พระราชวังชางด๊อกกุง ได้ถูกใช้เป็นที่ประทับขององค์กษัตริย์ ที่ว่าราชการ และที่ทำงานของขุนนางจนถึงปี พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) เมื่อพระราชวังเคียงบกซึ่งอยู่ข้างเคียงได้รับการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งโดยสมเด็จพระจักรพรรดิซุนจง (จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิเกาหลี) แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระจักรพรรดิซุนจงนี้ก็ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังชางด๊อกกุงเรื่อยมากระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926)
อย่างไรก็ตาม บรรดาสมาชิกราชวงศ์ลี (ราชวงศ์จักรพรรดิเกาหลี) ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีสถานะเป็นประมุแห่งรัฐอย่างเป็นทางการนั้น หากในอนาคตสถาบันจักรพรรดิเกาหลีถูกฟื้นขึ้นในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐ (ระบอบประชาธิปไตยอันมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประมุข) พระราชวังแห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่ใช้ในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อการขึ้นเสวยราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ
*มรดกโลก
พระราชวังชางด๊อกกุงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 เมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่เนเปิลส์ ประเทศอิตาลี โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้
- เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
- เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น